อ่านตอนที่ 1 ได้จากลิงค์นี้ จากตอนที่ 1 สรุปได้ว่าเป็นการอ่านดวงโลก หรือโลกียะ (Mundane) เพื่อดูความเป็นไปในเมืองหรือประเทศต่าง ๆ โดยตั้งดวงเหมายัน (Winter Solstice) ณ ที่ตั้งของประเทศหรือเมืองที่สนใจ ได้เป็นดวงกำเนิด (Radix) ที่เสมือนว่าในพื้นที่นั้นมีการเกิดใหม่ทุกปีที่เวลาแห่งเหมายัน เท่ากับเป็นการเอาดวงจรปัจจุบันในเวลาขณะนั้นมาเป็นดวงกำเนิดประจำปีของประเทศหรือเมืองที่สนใจ ตามหลักการพยากรณ์จรด้วยโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc Directions) เราเทียบให้ 1 วันหลังกำเนิดเท่ากับ 1 ปีที่ผ่านไปในชีวิต ดังนั้นเมื่อเรามีดวงกำเนิดใด ๆ เราสามารถหมุนโค้งไป 1 วันเพื่อพยากรณ์ได้ 1 ปีถัดไป ดังในดวงเด็กที่เกิดใหม่ ๆ เราอาจใช้เทคนิคนี้ในการหาความพิการหรือต้องผ่าตัดหรือเจ็บป่วยในวัยทารกได้เป็นอย่างดี โดยระบุช่วงวันที่เกิดเหตุการณ์ได้ทีเดียว เพราะโค้งสุริยยาตร์ในช่วง 1 ขวบแรกนั้นจะบ่งบอกเรื่องสุขภาพของทารกน้อยโดยตรง เพราะเจ้าชะตาคือทารกน้อยไม่ได้มีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตที่จะเป็นกิจกรรมอันแสดงผลเชิงประจักษ์เป็นเหตุการณ์ได้เลย ก็มีแต่เรื่องสุขภาพอย่างเดียวนั่นเอง (มีพัฒนาภายในตัวของทารกด้วย ทั้งความคิด จิตใจ อารมณ์ สัมพันธภาพ แต่ไม่อาจสังเกตเห็นได้จากภายนอก) ในดวงโลก (Mundane) ก็ทำได้เช่นกัน ดังที่ได้แสดงมา โดยวิธีนี้ ทำให้การพยากรณ์ดวงประเทศหรือเมืองต่าง ๆ ในแต่ละปีมีความเรียบง่ายขึ้นมาก และวิธีนี้ก็เป็นการให้ความสำคัญทั้งกับดวงกำเนิด หมุนจรดูความเปลี่ยนแปลงไปตามโค้งสุริยยาตร์ และดูอิทธิพลของดาวจรปัจจุบันไปพร้อม ๆ กันด้วย ดาวใหญ่หรือดาววงนอก (Outer Planet) คือดาวที่ส่งผลเชิงประจักษ์เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาก และดาวเล็กหรือดาววงใน (Inner Planet) คืออาทิตย์ (SU) พุธ (ME) ศุกร์ (VE) รวมถึงอังคาร (MA) ด้วยนั้นใน 1 วันจะโคจรไปประมาณ 1 องศา (บวกหรือลบนิดหน่อย) ดังนั้นเมื่อเราหมุนดวงกำเนิดด้วยโค้งสุริยยาตร์ใน 1 วันหลังกำเนิด (ซึ่งเทียบเป็น 1 ปีในชีวิต) จะทำให้ดาววงในเหล่านั้นแสดงผลได้ในอัตราภายใน 1 องศาหรือ 1 ปี อันสอดคล้องกันเชิงปรัชญาอย่างมาก ดาวเล็กจึงทำตัวเป็นตัวเบี่ยงเบนองศาที่สร้างการกระตุ้นหรือเป็นตัวจุดระเบิด (Trigger) ให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามโค้งสุริยยาตร์ด้วยการผสมเข้ากับดาวใหญ่เกิดเป็นภาพดาว (Planetary Pictures) ขึ้นเป็นลำดับ ๆ ไป ส่วนดาวจรปัจจุบัน (Transit) ก็โคจรไปตามอัตราจริง ซึ่งดาวใหญ่ก็จะแทบไม่เปลี่ยนตำแหน่งไปมากนักใน 1 ปี โดยคร่าว ๆ เรากล่าวได้ว่ามันก็อยู่แถว ๆ เดิมนั่นเอง ดาวสุขทุกข์ตัวพ่อคือพฤหัส (JU) กับเสาร์ (SA) ซึ่งจะโคจรไวกว่าใครเพื่อน (หากไม่นับดาวเคราะห์น้อยตัวพ่อทั้ง 4 คือซีรีส (CE) พัลลัส (PA) จูโน (JN) และวีสตา (VT) ซึ่งมีวงโคจรอยู่ระหว่างอังคาร (MA) และพฤหัส (JU) ซึ่งจะโคจรในอัตราที่นำมาใช้พยากรณ์ประจำปีได้อย่างน่าสนใจมาก คือไม่เร็วแบบดาวเล็ก ไม่ช้าเหมือนดาวใหญ่ อยู่กลาง ๆ กำลังพอดี ๆ) จึงเป็นดาวหลักที่จะนำมาประกอบกับการพยากรณ์ในรอบ 1 ปีได้อย่างสำคัญ โดยอย่างมากสุดอาจยืดหยุ่นโดยใช้ระยะวังกะหลวม ๆ มากถึง +- 5 องศาสำหรับกากบาท (Cross) ของมุมสัมพันธ์แบบทับ เล็ง และฉาก กลับไปดูภาพของเหตุการณ์ตัวอย่างคือ ไต้ฝุ่นมรกตถล่ม ไต้หวันอ่วม ยืนยันเสียชีวิต 14 คน สูญหาย 51 คน คาดว่าอาจสูงถึง 600 คน แต่คราวนี้จะแสดงด้วยระยะวังกะ (Orb) เพียง 1 องศาในทุกวงดวง
จะเห็นว่า AD/VU = MA v2 = NO r = AS r เป็นสมการโดยย่นย่อที่สุดที่บ่งชี้การเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวที่ตำแหน่งเมืองนั้นหรือลัคนา (AS) นั้น การใช้ระยะวังกะ 1 องศา ด้วยกรอบความคิดเชิงปรัชญากับความเป็นจริงต่อตัวเจ้าชะตา ว่าในที่นี้ยังมีพัฒนาการของวัยอยู่แค่ในช่วง 1 ปี หากว่าเป็นดวงคนนั้นในทางวิทยาศาสตร์สังคม (Social Science) หรือจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) และจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ศึกษาพบว่า เด็กจะมีพัฒนาการของตนเองสูงมากในช่วง 4-5 ขวบแรก หลังจากนั้นเด็กจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เขาเป็นตัวของตัวเองอย่างสูงขึ้นมาพร้อมพรักแล้ว! (จุดเจ้าชะตาอื่น ๆ เช่น กาย (SU), ใจหรืออารมณ์ (MO), และดาวอันแสดงถึงพฤติกรรมของเจ้าชะตาคือ ความคิด (ME), ความรู้สึก (VE), การกระทำ (MA) มีการพัฒนาเต็มที่ หากใครอยากจะโปรแกรมสั่งสอนให้ลูกเป็นอย่างไร ก็น่าจะให้เวลากับลูกของตนให้มากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้!) ระยะวังกะที่จะใช้สำหรับดวงกำเนิดของดวงคนจึงใช้ราวใน +- 5 องศาสำหรับกากบาท (Cross) ของมุมสัมพันธ์แบบทับ เล็ง และฉาก การดูดวงโลก (Mundane) นี้เป็นการดูความเป็นไปอย่างกว้าง ๆ ในโลก หากเป็นการดูดวงคน ซึ่งมีตัวตนหรือดวงกำเนิดของตัวเองอย่างชัดแจ้งนั้น จะมีกรรมวิธีอีกแบบหนึ่งในการสังเคราะห์ดวงประจำปีซึ่งเป็นดวงพิเศษขึ้นใช้ ซึ่งผู้เขียนพัฒนาขึ้นจากดวงทินวรรษ (Solar Return) เป็นดวงพิเศษอีกแบบหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ดวงทินอธิวรรษ (SolMeridian Return) โดยให้ความสำคัญกับนิยามของ "เวลา" ในขณะที่เกิด เพื่อนำมากำหนดดวงที่เสมือนการเกิดใหม่ในแต่ปี (Annual, Yearly) โดยได้เป็นดวงที่มีความพลวัต (Dynamic) ไม่ใช่แน่นิ่งตายตัวเพราะใช้กรรมวิธีจรด้วยโค้งสุริยยาตร์ประกอบเข้าอย่างได้ส่วนกันในการหาอิทธิพลของดาวจรปัจจุบันซึ่งส่งผลในปีหนึ่ง ๆ ต่อเจ้าชะตาแต่ละคน (Native, Individuality, Personality) การสังเคราะห์มุมมองหรือกรรมวิธีใหม่ ๆ (Synthesis) หรือดวงพิเศษ (Special Horoscope) ขึ้นใช้ในวงการโหราศาสตร์ มีพัฒนาการมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี และจะยังมีการพัฒนาต่อไปอีก โดยสามารถทำได้เสมอโดยจะต้องมีกรอบความคิดเชิงปรัชญาที่นำมาสร้างหรือใช้นั้นที่ถูกต้อง มีการร้อยรัดหรือล็อคกันอย่างแน่นหนาในเชิงนิยาม โดยเฉพาะ "เวลา" อันเกิดจากการบ่งชี้ของปัจจัย (หรือดาว) หลาย ๆ ตัว โดยเฉพาะสอดคล้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลก (Rotation) และการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Revolution) ซึ่งสอดคล้องกับการที่แกนของโลกเอียง และจังหวะการแกว่งไกวของแกนโลกกับระวิมรรคหรือสุริยวิถี (Ecliptic) ภาพการหมุนรอบตัวเองของโลก (Rotation) และการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Revolution) เอามาจากลิงค์นี้ http://www.boscobel.k12.wi.us/~schnrich/eath's_revolution.htm (ไม่ได้แนะนำว่าเนื้อหาดีแต่อย่างใด แค่ขี้เกียจวาดเอง) |