ถาม-ตอบ: ถ้าลัคนาในโหราศาสตร์ไทยเป็นลัคน์กันย์ แต่ยูเรเนียนเป็นลัคน์ตุล จะทำให้ดวงแตกต่างกันไหมคะ

เมื่อ วันศุกร์ 14 สิงหาคม 2009 20:33:23
 
ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ซึ่งเน้นพระเคราะห์สนธิ (Planetary Pictures) นั้นมิได้มีการใช้ลัคนาในแง่ที่ว่าอยู่ในราศีใดครับ แต่จะใช้ลัคนาในฐานเป็นจุดดาวที่ทำมุมสัมพันธ์กับดาวหรือปัจจัยอื่น ๆ ครับ

ในมุมมองแบบระบบเรือนชะตายูเรเนียน (House System) ก็มิได้ใช้ความหมายของราศีที่ลัคนาอยู่ แต่ใช้จุดลัคนาสร้างเป็นเรือนชะตา โดยในดวงกำเนิดนั้นลัคนาเป็นจุดเริ่มต้นของเรือนที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชะตากับคนใกล้ชิด หรือสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ลัคนาจะเป็นเพียง 1 ใน 6 ระบบเรือนชะตาหลักซึ่งใช้จุดเจ้าชะตามาตั้งเรือนเท่านั้น (จุดเจ้าชะตา ได้แก่ เมอริเดียน ลัคนา อาทิตย์ จันทร์ เมษ และราหู) และยังอาจพิจารณาเรือนชะตาของดาวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ด้วย

หากจะให้แสดงความเห็นอย่างอื่นอีก ผมก็ขอเพิ่มเติมว่า ความหมายของลัคนาในราศีนั้นเป็นกรอบความคิดกว้าง ๆ ที่จะยังใช้พยากรณ์ไม่ได้ เป็นการแบ่งลักษณะคนเป็น 12 แบบ (ของประชากรโลกกว่า 10,000 ล้านคน) แต่ที่นิยมใช้กันนั้นก็เพราะสะดวกต่อความเข้าใจของคนทั่วไป ทำให้สามารถเขียนให้อ่านกันได้เป็นความบันเทิงทางนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดความนิยมขึ้นมาตั้งแต่ราว ค.ศ. 19xx โด่งดังมากในยุค 196x นั้นก็คือ Linda Goodman พิมพ์หนังสือขายได้ราว 6 ล้านเล่มในยุคนั้น (ซึ่งต้องถือว่าเยอะมาก ๆ) โดยใช้ตำแหน่งของอาทิตย์ในราศีต่าง ๆ (ก็เหมือนลัคนาในราศีต่าง ๆ นั่นเอง ซึ่งก็มีใช้ด้วย) จึงเกิดศัพท์ Sun Sign ขึ้นมา

ความนิยมหาลัคนาในราศี หรืออาทิตย์ในราศีนี้จะยังมีต่อไป และเป็นคำถามและความสับสนที่ยาวนานต่อไป ตราบใดที่นักพยากรณ์ยังมีรายได้จากการเขียนคำทำนายลงในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร หรือหนังสือพยากรณ์รายปีต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำให้คนทั่วไปอ่านกันได้และง่ายต่อความเข้าใจ (โดยมิคำนึงถึงความแม่นยำหรือหลักการทางโหราศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาจำนวนมาก โดยละทิ้งเสียเพื่อเหตุผลทางการเงิน) คือแบ่งคนออกเป็น 12 ประเภทตามราศี (หรือ 7 ประเภท ถ้าใช้วันในสัปดาห์แทน ซึ่งเป็นอีกแบบที่นิยมใช้กันในประเทศไทย)

เรื่องลัคนาหรืออาทิตย์ในราศีนี้ ในทางเทคนิคยังมีปัญหาที่ถกเถียงกันอีกเรื่องระบบของทางตะวันตก (Tropical หรืออิงฤดูกาล) กับแนวทางของอินเดีย (พาราณสี, ภารตะ, ไทยด้วย) ซึ่งจะได้ตำแหน่งไม่ตรงกัน โดยทางดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์นั้น ราศีมิได้อยู่ที่เดิมเมื่อมองสัมพันธ์กับโลก แต่โหราศาสตร์แนวอินเดีย ถือว่าราศียังอยู่ที่เดิมนับตั้งแต่มีโหราศาสตร์ (และดาราศาสตร์ด้วยพร้อม ๆ กัน) ขึ้นในโลก (4-6 พันปี มาแล้ว) ดังนั้นแค่เอาตามความเป็นจริงทางเทคนิคก็หาที่สรุปไม่ได้แล้ว ไม่จำต้องนับเรื่องความกว้างหรือหยาบของความหมายแต่อย่างใด (ที่แบ่งคนทั้งโลกออกเป็น 12 แบบ)

ถ้ามองในแง่ของอิทธิพลของราศีนั้น แต่ละราศีก็กว้างถึง 30 องศา (แบ่งวงกลม 360 องศาเป็น 12 ส่วน) ที่จริงแล้วคนที่มีราศีเดียวกัน (ไม่ว่าจะลัคนาหรืออาทิตย์ก็แล้วแต่) ไม่ควรจะมีลักษณะร่วมกันในราศีนั้น มันเป็นการสรุปง่ายเกินไป เพราะคนที่เกิดตรงรอยต่อระหว่างราศีที่อยู่ติดกันจะมึนงงอีกว่า แล้วจะให้เขามีลักษณะไปทางราศีไหนมากกว่ากัน ถ้าคิดด้วยสามัญสำนึกเราอาจคิดว่าที่ตำแหน่งกลาง ๆ ราศีคือ 15 องศาน่าจะแสดงอิทธิพลของราศีนั้นอย่างรุนแรง ที่ต้นราศีน่าจะมีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่าง 2 ราศี และที่ปลายราศีก็น่าจะมีลักษณะคาบเกี่ยวของอีก 2 ราศี แต่ในทางเทคนิคไม่เป็นเช่นนั้น เห็นกันว่าตำแหน่งต้นราศีมีอิทธิพลของความหมายตามราศีรุนแรงที่สุดครับ ยิ่งห่างออกไปกลางราศี ปลายราศี อิทธิพลก็จะอ่อนลงไป

ให้เรามองง่าย ๆ ก็แล้วกันว่า ราศีอาจถือว่าเป็นการแบ่งคนเราออกตามฤดูดกาลที่เกิด เช่น หน้าร้าน หน้าฝน หน้าหนาว เป็นต้น (ถ้าตะวันตกจะมี 4 ฤดู ก็มองไปอีกแบบหนึ่ง) กล่าวคือ ให้มองธรรมชาติของสัตว์และสิ่งต่าง ๆ ในฤดูกาลนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร คนที่เกิดในช่วงฤดูกาลนั้นก็จะมีลักษณะร่วมของพฤติกรรมคล้ายสัตว์หรือสรรพสิ่งในฤดูกลางนั้น เช่น คนเกิดหน้าร้อนก็จะหุนหัน ใจไว หงุดหงิดง่าย คนเกิดหน้าหนาว จะขยันเพราะต้องทำให้ร่างกายตนเองอบอุ่นแต่ก็สุขุมดี เพราะอากาศในช่วงเกิดไม่ทำให้หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ธรรมชาติในช่วงที่คนเกิดมาในโลกนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคน ในทางจิตวิทยาก็เท่ากับว่ามันทำให้คนนั้นคิดว่าโลกนี้เป็นอย่างไรจากสัมผัสรับรู้ในช่วงแรก ๆ ของชีวิตที่มีจิตสำนึกส่วนบุคคลขึ้นมา

Comments