การกุมกันครั้งยิ่งใหญ่ (Great Conjunction) ของพฤหัส กับเนปจูน (และไครอน)

สำหรับโหราศาสตร์นั้น เราจะให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับปรากฏการณ์การกุมกันของดาว 2 ดวงขึ้นไป (รวมทั้งการเล็งด้วย ส่วนการฉากนั้นยังดูด้วยสายตายากหน่อย แต่สำหรับผู้ที่ใช้จานหมุน 90 องศาของโหราศาสตร์ยูเรเนียนก็จะง่ายมาก เพราะการกุม เล็ง และฉากจะถูกทอนลงมารวมอยู่ที่จุดเดียวกัน)
 
เป็นการสมควรยิ่งที่จะเรียกการกุมกันของดาววงนอก คือตั้งแต่พฤหัสถัดออกไปนั้นว่า การกุมกันครั้งยิ่งใหญ่ (Great Conjunction) แม้ว่าในสมัยก่อนนั้นคำนี้จะยกให้กับเฉพาะการกุมกันของพฤหัส-เสาร์เท่านั้น เพราะเป็นดาวที่มนุษย์เรามองเห็นได้ แต่เมื่อเราค้นพบว่ายังมีมฤตยู เนปจูน พลูโต (และอื่น ๆ อีก) ก็ควรนับการกุมกันของดาวเหล่านี้ว่าเป็นการกุมกันครั้งยิ่งใหญ่ด้วย ในระยะปีใกล้ ๆ นี้มีการกุมกันครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นดังนี้
 
ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ก.พ. 16  พฤหัส-มฤตยู
ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) พ.ค. 28  พฤหัส-เสาร์
ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ธ.ค. 11  พฤหัส-พลูโต
ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) มิ.ย. 8     พฤหัส-มฤตยู
ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ก.ย. 19   พฤหัส-มฤตยู
ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ม.ค. 4     พฤหัส-มฤตยู
 
ถ้าเรายังไม่ลืมวิกฤติทางเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า "ต้มยำกุ้ง" เพราะได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 แล้วลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย(โดยเฉพาะ ตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี) จากข้อมูลข้างต้นนั้น เราจะพบความสอดคล้องกันกับการกุมกันครั้งยิ่งใหญ่ของ พฤหัส-มฤตยู เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เพราะว่า พฤหัส แปลว่า การเงิน, เศรษฐกิจ, โชคลาภ, ความสำเร็จ, ความสมบูรณ์พูนสุข, การกินดีอยู่ดี ส่วน มฤตยู ก็แปลว่า ฉับพลัน, ไม่คาดฝัน, แปลกประหลาด, ผิดเพี้ยน, ปั่นป่วน, ผันผวน, เขย่าขวัญ, อย่างเข้มข้นหรือรุนแรง (ในประเทศไทย มฤตยู แปลว่า ตาย, มัจจุราช เลยทีเดียว อันเป็นที่มาของชื่อดาวนี้นั่นเอง กวีนักแต่งกลอนทั้งหลายเมื่อพูดถึงความตายก็มักจะพูดถึงมฤตยู เช่น ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ก็ขึ้นต้นบทกลอนสำคัญของท่านว่า โอ้มฤตยู... เป็นต้น)
 
ถ้าเราเห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้แล้วล่ะก็ ระวังปี ค.ศ. 2010-2011 ให้ดี เพราะ พฤหัส-มฤตยู จะกุมกันถึง 3 รอบดั่งการบดขยี้ที่เดิมซ้ำ ๆ เลยทีเดียว โดยสาเหตุนั้นดูเหมือนว่าจะมาจากการกุมกันของ พฤหัส-พลูโต ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งอาจแปลว่า การเติบโต (อย่างผิดปกติ) ทางการเงินหรือเศรษฐกิจ เพราะ พลูโตนั้นแปลว่า การเติบโต, การงอกเงย, การเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว (อย่างกับการแบ่งเซลส์) เราอาจเรียกมันว่าสงสัยจะเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ก็ได้
 
ทั้งนี้ที่ว่ามานั้นเป็นการกล่าวตู่อยู่ไม่น้อย (หรืออภิปรายแบบตีคลุมหรือเหมารวมไว้ก่อน โอกาสถูกต้องหรือถกเถียงหรือแก้ตัวได้ย่อมมีมาก) เพราะที่เหมาะควรกว่านั้น จะต้องพิจารณาถึงดาวที่ 3, 4 หรือกว่านั้นที่มาทำมุมสัมพันธ์กับการกุมกันดังกล่าว จึงจะบ่งชี้ช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์และลีลาอันเลวร้ายว่าจะรุนแรงเพียงใดได้อย่างมั่นเหมาะ แต่โอกาสเป็นเรื่องดีก็มี แต่ก็น้อยเพราะดาวที่เหลือที่จะเป็นตัวกระตุ้น (Trigger) ได้นั้น ส่วนใหญ่ก็มีความหมายไปในเชิงลบทั้งนั้น
 
ที่จริงที่แสดงให้ดูไปนั้นคือแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มาดูข้อมูลที่เม้มไว้ต่อไปอีก ดังนี้
 
ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) พ.ค. 27 พฤหัส-เนปจูน
ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ก.ค. 10 พฤหัส-เนปจูน
ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ธ.ค. 21 พฤหัส-เนปจูน
 
ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) การกุมกันของของพฤหัส (JU) กับเนปจูน (NE) เกิดขึ้นแบบกระทืบซ้ำถึง 3 รอบ โดยมีดาวอีกดวงหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในวงการโหราศาสตร์นัก คือ ไครอน (Chiron, ย่อว่า CH) ร่วมกุมอยู่ด้วย จากการศึกษาโดยการอ่านงานของผู้อื่นและติดตามกับเหตุการณ์ของผมนั้นได้ให้อิทธิพลของไครอนว่าคล้ายกับมฤตยูและพลูโต โดยใช้คำสำคัญหลักว่า หัวเลี้ยวหัวต่อ (Turning Point), การบุกทะลวงฝ่าฟันข้ามไป (Breakthrough)
 
มาดูภาพกันดีกว่า
 
 
จะเห็นว่า JU กุม NE กุม CH นอกจากนั้นยังฉากกับ AD และ 45 องศากับ ZE
 
โดยที่ AD.ZE นั้นคือ การให้กำเนิด, การเกิดเริ่มแรก เพราะ AD นั้นดุจมดลูกหรือเครื่องเพศหญิงหรือการบ่มเพาะหรือพระแม่ธรณี ZE นั้นคือเครื่องเพศชายหรือสเปิร์มหรือพลังแห่งการให้กำเนิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือพระอินทร์ (หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ ถ้าคุณถนัดแบบจีน หรือซุส ถ้าเป็นเทพปกรฌัมกรีก-โรมัน)
 
ผมกำลังจะโยงการอุปมาฯ การให้กำเนิดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (หรือไข้หวัด หรือไข้หวัดเม็กซิโก หรือไข้หวัด 2009) ข้างต้นเข้ากับดาวชุดนี้ทั้งหมด คือ
 
NE หมายถึง ไวรัส แบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดการเสื่อม สลาย อ่อนแอ และมีนัยแห่งการแพร่กระจายทางอากาศ และน้ำ (นัยตามธาตุ)
 
CH นั้นหมายถึง ความฉับพลัน การเร่งความเปลี่ยนแปลง หัวเลี้ยวหัวต่อ ความตึงเครียด
 
JU นั้นหมายถึง การแผ่ขยาย การเพิ่มขึ้น
 
AD นั้นหมายถึง การบ่มเพาะ การฟูมฟัก การหลบซ่อนอยู่ข้างใต้หรือภายใน มีเกราะกำบังที่แข็งแกร่ง (สภาพของไวรัส ชื่อชนิด A/H1N1 นั้นถึงรูปแบบของเปลือกที่หุ้มไวรัสอยู่โดยตรง)
 
ZE นั้นหมายถึง การให้กำเนิด ต้นเชื้อเริ่มแรกของการเกิดขึ้นใหม่
 
รวมความหมายทั้งหมด เราอาจบอกได้แล้วว่า นี่คือสภาพแห่งการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
 
27 พ.ค. 2552 เป็นช่วงที่ข่าวของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เริ่มรับรู้ว่ามีเกิดขึ้นในโลก (ดังภาพข้างต้น)
 
10 ก.ค. 2552 เป็นช่วงชาวโลกรับรู้ว่ามันแพร่ขยายไปทั่ว จนเลิกรายงานตัวเลข และอาจถือได้ว่าเป็นโลกประจำถิ่นไปแล้ว (ต้องทำตัวให้คุ้นเคยว่ามันเป็นโรคธรรมดา เป็นกันได้ทั่วไป เหมือนเป็นเพื่อนบ้านเรา อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันกับเรา)
 
 
21 ธ.ค. 2552 เป็นช่วงที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็น Winter Solstice (เหมายัน) คือพระอาทิตย์เบี่ยงห่างจากเส้นศูนย์สูตรโลกมากที่สุดไปสัมผัสกับแนวระวิมรรค หรือสุริยวิถี (Ecliptic) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของโลก (ทางดาราศาสตร์หรือโหราศาสตร์) คืออาทิตย์จะสัมผัสกับแกนโลกที่จุดมังกร เราคงจะได้เห็นการแปลงรูปไปอีกครั้งอย่างสำคัญของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งการแพร่กระจายอย่างรุนแรงอีกด้วย
 
 
ภาพข้างต้น ผมได้นำเอาอังคาร (MA) เข้าแสดงให้เห็นความสำคัญถึงการเป็นตัวกระตุ้น (Trigger) และคิวปิโด (CU) เข้ามาเพื่อแสดงถึงสภาพแห่งการลุกลามว่าจะต้องไปถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (พึงสังเกตด้วยว่า ในขณะที่อาทิตย์ (SU) เข้าแกนโลกนั้น จันทร์ (MO) ก็กวาดเข้ากุม NE.JU.CH อันเป็นจุดสนใจนั้นด้วย)
 
โดยในสองภาพแรกได้ตัดการวงกลมเน้นดาววงในหรือดาวที่เดินเร็วออกไป เพื่อลดการกวนสายตาหรือสมาธิที่จะพิจารณาถึงบ่อเกิด (AD.ZE) แห่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (NE.JU.CH)
 
เนื่องจากการกุมกันของ NE, JU และ CH ไม่เคยมีบันทึกมาก่อนในประวัติแห่งโหราศาสตร์ (เพราะเพิ่งจะค้นพบไครอนได้เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นดาวที่อยู่ระหว่างวงโคจรของเสาร์กับมฤตยู ในทางดาราศาสตร์ไม่จัดว่าไครอนเป็นดาวเคราะห์ โดยน่าจะเข้าข่ายในกลุ่มดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย หรือจะเป็นอุกกาบาตขนาดใหญ่ก็ได้ แล้วแต่จะนิยามหรือสมมติกันไป ในทางโหราศาสตร์เราเรียกรวมว่าดาวเคราะห์ทั้งหมด เพื่อความเรียบง่ายในการสื่อความแบบรวบยอด) ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นการเฝ้าตรวจสอบครั้งสำคัญอย่างยิ่ง ว่าความหมายที่เราอนุมานมาข้างต้นนั้นจะเหมาะสมหรือไม่!
 
แหล่งข้อมูล:
Comments