จานหมุน (Dial) แบบต่าง ๆ มีต้นกำเนิดการประดิษฐ์คิดค้นเป็นแบบอย่างขึ้นโดยสำนักโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก (Hamburg School of Astrology) ซึ่งต่อมาเป็นที่นิยมเรียกกันในชื่อว่าโหราศาสตร์ยูเรเนียน
จานหมุนที่สำคัญ โด่งดัง เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดคือ จานหมุน 90 องศา ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดแทบจะไม่ได้เลยสำหรับนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนซึ่งใช้วิธีการสำรวจหาข้อมูลพระเคราะห์สนธิ (Planetary Pictures) เป็นหลัก จนพูดได้ว่า จานหมุน 90 องศา เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโหราศาสตร์ยูเรเนียนทีเดียว
ในตอนที่จานหมุน 90 องศา ปรากฏแก่สายตานักโหราศาสตร์ทั่วไปนั้น ผู้คนพากันงง ๆ ดูไม่ออก ดูยาก แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็ได้ใช้หลักการเดียวกันไปสร้างเป็นจานหมุนแบบอื่น ๆ ขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งถูกนำไปใช้พัฒนาหลักการเรื่องฮาร์โมนิกส์ขึ้นด้วยมุมมองความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง
จานหมุน 90 องศา เป็นแนวคิดของอัลเฟรด วิตเตอ (Alfred Witte) ที่แสดงต่อลุดวิก รูดอลฟ์ (Ludwig Rudolph) ให้ลองทำขึ้นใช้ดูเป็นคนแรก พร้อม ๆ กันนั้น ฟรีดริชค์ ซึกกรึน (Friedrich Siggruen) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ก็ได้ทำขึ้นใช้บ้าง และเป็นผู้ได้รับเครดิตเรื่องจานหมุน 90 องศานี้เป็นส่วนมาก
ในที่นี้จะแสดงจานหมุนแบบต่าง ๆ โดยไล่เรียงไปจากแบบ 360 องศา ซึ่งใกล้เคียงกับแผนภาพดวงชะตาซึ่งมีใช้กันมาแต่ดั้งเดิม คือที่แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วนละ 30 องศา และเรียกชื่อตามตำแหน่งกลุ่มดาวหลักหรือราศีที่อยู่ในแต่ละส่วนของ 30 องศานั้น
จานหมุน 360 องศาที่แสดงภาพประกอบในข้อเขียนนี้ ได้ตัดการแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์โดยอ้างอิงกับชื่อราศีบนท้องฟ้าออกไป เพราะโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้นจะใช้มุมสัมพันธ์ (Aspect) แบบสมมาตรคือหารด้วย 2 ไปเรื่อย ๆ เป็นหลัก กล่าวคือจากวงกลมฟ้า 360 องศานั้น หากพบว่ามีดาวทับหรือกุมกันคือ 0 องศา;
เมื่อลากเส้นแบ่งครึ่งวงกลมไปยังฝั่งตรงข้าม จะได้มุมเล็งคือ 360/2 = 180 องศา,
และเมื่อลากเส้นแบ่งครึ่งของครึ่งวงกลมที่ได้จากครั้งก่อน จะได้มุมฉากคือ 360/4 = 180/2 = 90 องศา (และมุมตรงข้ามเป็น 270)
แบ่งอีกครั้งก็จะได้มุม 45 องศา (ได้แก่มุม 45, 135, 225 และ 315 ซึ่งเป็นมุมตรงข้ามกันและฉากกันเป็นรูปกากบาท)
และแบ่งอีกครั้งก็จะได้มุม 22:30 องศา (ซึ่งมีมุมย่อย ๆ 8 จุดด้วยกัน เป็นรูปกากบาท 2 อัน)
มาดูภาพกันดีกว่าจะเข้าใจง่ายขึ้น โดยในที่นี้จะยกตัวอย่างดวงของการเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกวินาศสันตะโร เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก (The Great Depression) มีชื่อว่า วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)
ภาพข้างต้นแสดงโดยใช้สถานที่เป็นกรุงเทพฯ และเวลาเที่ยงของวัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ระดับโลก สถานที่และเวลาจึงไม่ใช่นัยสำคัญ
ภาพนี้เป็นจานหมุน 360 องศา ซึ่งใน 1 รอบวงกลมมี 360 องศา ตั้งแกนที่จุดเมษ (AR) เส้นแบ่งจากจุดเมษไปตุล และเส้นฉากจากกรกฎไปมังกรเป็นสีแดง แสดงถึงความสำคัญอย่างยิ่ง เส้นแบ่งมุม 45 แสดงเป็นสีเขียว และเส้นแบ่งมุม 22:30 แสดงเป็นสีประเหลืองเทา ๆ แสดงถึงความสำคัญน้อยที่สุด
จากภาพนี้ตั้งแกนที่ AR จะเห็นว่า MA 45 กับ AR ซึ่งเป็นแกน
และ AP กุม VX และทั้งสองทำมุม 22:30 กับ AR ซึ่งเป็นแกน
ภาพถัดไปจะแสดงวงกลมสีแดงล้อมรอบกระจุกดาว (Cluster) คือดาวที่เกาะกลุ่มหรือกุมกันอยู่ จากภาพข้างต้นจะเห็นถึงสภาพของโลกในขณะนั้นว่าเลวร้ายเพียงใด กาลเวลาช่วงนั้นมีสงครามโลกโดยฮิทเลอร์และพลพรรคนาซีเป็นผู้ก่อโศกนาฏกรรมหลัก ไล่จากจุดเมษทวนเข็มนาฬิกาไป จะพบว่า
HA กุม UR กุม AD KR กุม NO กุม CH (โดยกระจุกดาวนี้ทำมุม 45 กับ AR ดูตามเส้นสีเขียว) ZE กุม VT (โดยกระจุกดาวนี้ทำมุม 45 กับ AR ดูตามเส้นสีเขียว) NE กุม AP (โดยกระจุกดาวนี้ทำมุม 22:30 กับ AR ดูตามเส้นประสีเหลืองเทา) PO เล็ง AR MA 45 AR SA ฉาก AR คราวนี้มาดูจานหมุน 90 องศาบ้าง ซึ่งใน 1 รอบวงกลมมี 90 องศา ตั้งแกนที่จุดเมษ (AR) แสดงเส้นแบ่งจากจุดเมษไปตุล และเส้นฉากจากกรกฎไปมังกรเป็นสีแดงเท่านั้น
ข้อมูลของดาวต่าง ๆ ยังเหมือนเดิมกับจานหมุน 360 องศา แต่ตำแหน่งดาวจะเปลี่ยนไป ดังนี้
ในจานหมุน 360 องศาเดิม MA 45 AR
KR กุม NO กุม CH (โดยกระจุกดาวนี้ทำมุม 45 กับ AR ดูตามเส้นสีเขียว) ZE กุม VT (โดยกระจุกดาวนี้ทำมุม 45 กับ AR ดูตามเส้นสีเขียว) ในจานหมุน 90 องศาใหม่
KR, NO, CH, ZE, VT, MA จะย้ายไปเล็งกับ AR กล่าวคือดาวที่ในจานหมุน 360 องศาทำมุม 45 กับแกนที่สนใจ จะกลายเป็นเล็งกับแกนแทนในจานหมุน 90 องศา ทำให้ดูง่ายขึ้น คือมุม 45 ที่เคยมี 4 ตำแหน่งนั้น (45, 135, 225 และ 315) จะรวมกันเป็นตำแหน่งเดียวที่มุมเล็งเท่านั้น ทำให้เห็นอิทธิพลร่วมกันของพวกมันชัดเจนขึ้น
NE, AP จะย้ายไปทำมุมฉากกับ AR กล่าวคือดาวที่ในจานหมุน 360 องศาทำมุม 22:30 กับแกนที่สนใจ จะกลายเป็นฉากกับแกนแทนในจานหมุน 90 องศา ทำให้ดูง่ายขึ้น มุม 22:30 นั้นที่เคยมีถึง 8 ตำแหน่งก็รวมกันอยู่ที่มุมฉากสองฝั่งทั้งหมด ส่วน PO ที่เล็ง AR และ SA ที่ฉาก AR ในจานหมุน 360 องศา ก็จะย้ายไปกุม AR แทนในจานหมุน 90 องศา ดั้งนั้นถ้านับมุมกุม เล็ง ฉากรวมกันเป็น 4 ตำแหน่งในจานหมุน 360 องศา เมื่อมาอยู่ในจานหมุน 90 องศา จะรวมกันกลายเป็นเพียงจุดเดียว ทำให้ดูง่ายขึ้น
ดาวอื่น ๆ ที่ไม่ถูกในแกนที่สนใจ ก็ยังคงทำมุมต่อกันไปคล้าย ๆ เดิม (แต่อาจมีการเปลี่ยนตำแหน่งไปบ้าง) เช่น HA กุม UR กุม AD ก็ยังคงอยู่ในลักษณะเดิม
สรุปว่า จากจานหมุน 360 องศาดั้งเดิมนั้นเมื่อปรับปรุงให้แสดงเส้นมุมตามแบบที่ใช้กันในโหราศาสตร์ยูเรเนียนโดยตรงดังกล่าวแล้ว ก็จะมองหาดาวทำมุมต่อกันได้ง่ายขึ้น คือดูดาวตามเส้นสีแดง เขียว เหลือง (ประ) ที่พาดผ่าน โดยจะยังคงเห็นน้ำหนักหรือความแรงของมุมครบถ้วน รวมถึงการประเมินความแรงเบาเนื่องจากระยะวังกะ (Orb) ของดาวต่อแกนที่สนใจ และการเกาะกลุ่มกันของดาวเป็นชุด ๆ ซึ่งถูกแสดงด้วยเส้นเชื่อมระหว่างดาวที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ทำให้เห็นถึงการก่อตัวเป็นกระจุกดาว (Cluster) ซึ่งร่วมอิทธิพลกันได้ชัดเจน
จานหมุน 90 องศา ทำให้การมองหาข้อมูลง่ายขึ้น จากที่ต้องมองถึง 16 จุดในจานหมุน 360 องศาแบบปรับปรุงแล้วนั้น ก็มองเพียง 4 จุด คือกุม เล็ง และฉาก 2 ข้างเท่านั้น โดยจะต้องปรับมุมมองของผู้ใช้ในเรื่องขีดองศาใหม่ เพราะ 1 องศาในจานหมุน 360 องศา ได้ถูกขยายขึ้นเป็น 4 เท่าในจานหมุน 90 องศา และดาวที่ทำมุมกุม เล็ง ฉากเดิม จะมารวมกันที่มุมกุมอย่างเดียว ส่วนดาวที่ทำมุม 45 องศาเดิม ก็จะมารวมกันที่มุมเล็งอย่างเดียว และดาวที่ทำมุม 22:30 เดิม ก็จะมารวมกันที่มุมฉากอย่างเดียว ทำให้ต้องระวังในการแยกแยะความแรงของมุม และระยะวังกะคือการเบี่ยงเบนจากแกนที่สนใจด้วย แต่หากวางใจไปเลยว่า มุมกุม เล็ง ฉากนั้นแรงเท่า ๆ กัน และใช้ระยะวังกะเท่า ๆ กันในทุกมุมด้วย ก็จะทำให้ปฏิบัติงานได้โดยปลอดโปร่งใจ
ภาพสุดท้ายจะแสดงจานหมุน 360 องศา กับจานหมุน 90 องศา เพื่อการเทียบเคียงกัน
จานหมุนที่ร่วมค่าฮาร์โมนิกส์ฐานเดียวกัน (เช่น 360, 180, 90, 45, 22:30 เป็นอนุกรมของฮาร์โมนิกส์ที่ 1, 2, 4, 8, 16 ตามลำดับ) ก็จะเห็นข้อมูลชุดเดียวกัน เพียงแต่จะเป็นการกระจายหรือรวบดาวไว้ในส่วนใดของจานหมุนเท่านั้น
จานหมุนที่ร่วมค่าฮาร์โมนิกส์อื่น ๆ ก็จะทำให้เห็นข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่มากขึ้น เช่น 360, 120, 60, 30, 15 เป็นอนุกรมของฮาร์โมนิกส์ที่ 1, 3, 6, 12, 24 ตามลำดับ
จานหมุนแบบต่าง ๆ ตามฐานฮาร์โมนิกส์ต่าง ๆ นี้เป็นการเชื่อมโยงดาวที่มีมุมสัมพันธ์หรือระยะเชิงมุมต่อกันเท่า ๆ กัน เข้าด้วยกันเป็นชุด ๆ เพื่อให้การมองหาข้อมูลง่ายขึ้น คือเมื่อเลือกจานหมุนที่เหมาะสม จะทำให้ข้อมูลชุดเดียวกันมากุม เล็ง ฉาก กันให้เห็นได้ง่าย (เพราะระยะเชิงมุมคือการเชื่อมโยงดาวที่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน สามารถพิสูจน์ได้ด้วยคณิตศาสตร์และหลักการของโหราศาสตร์ยูเรเนียนทั้งหมด)
การจะว่าจานหมุนแบบไหนยากง่ายกว่ากันนั้น ที่สุดแล้วขึ้นกับความถนัดและเคยชินตามที่หัด ฝึกฝน หรือปฏิบัติมาเป็นประจำของแต่ละคน (ที่เรียนหรือติดชินตามอาจารย์แต่ละท่าน ซึ่งใช้โปรแกรม และมุมมองที่แตกต่างกันไป) หากแต่ถ้าทราบถึงที่มาที่ไป และเป้าประสงค์ของการประดิษฐ์คิดค้น ดัดแปลง และพัฒนาต่อเนื่องกันมา ก็จะเข้าใจถึงคุณประโยชน์ว่าสามารถใช้งานได้ดีทุกแบบ กล่าวคือ มันต่างเติมเต็มในข้อมูลที่ชัดขึ้นและลึกเข้าให้แก่กัน |